ในบทความนี้จะอธิบายถึง การทำงานของสมอง และกระบวนการโค้ช
ในแบบของ Brain Base Coaching
เรามาเริ่มต้นที่ทำความรู้จักกับสมองกันก่อน
สมองของมนุษย์ ประกอบด้วยส่วนหลักๆ 3 ส่วน คือ
1.Hindbrain คือ สมองส่วนหลัง หรือ สมองกิ้งก่า
เป็นส่วนที่ควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติ
เช่น การเต้นของหัวใจ การหายใจ
2.Midbrain คือ สมองส่วนกลาง สมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
หรือ ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า สมองหมา นั่นเอง
สมองส่วนนี้เกี่ยวกับ ความจำ และอารมณ์ความรู้สึก
3.Prefrontal Cortex คือ สมองส่วนหน้า หรือ PFC
หรือ สมองคน นั่นเอง สมองส่วนนี้ เป็นส่วนที่คิดวิเคราะห์
วางแผนด้วยปัญญาและจริยธรรม
สมองทั้ง 3 ส่วน เป็นการวิวัฒนาการมาตามลำดับ ซึ่งสมองที่มีอยู่ก่อน จะมีอิทธิพลมาก และถูกเรียกใช้ก่อน โดยไล่ลำดับตั้งแต่ สมองกิ้งก่า สมองหมา และสมองคน เช่น สมองกิ้งก่าจะทำงานทันที ที่เราเผลอจับของร้อนๆ ระบบประสาทอัตโนมัติ บังคับให้เราปล่อยมืออย่างรวดเร็ว ป้องกันอันตราย โดยไม่ต้องผ่านอารมณ์ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดใดๆ
ลำดับการทำงานของสมองเหล่านี้ สำคัญต่อกระบวนการโค้ช คือ โค้ชจะต้องพยายามทำให้ PFC ของโค้ชชี่ทำงาน
โดยทำให้สมองส่วนกลาง เกิดความรู้สึกที่ดี เป็นบวก ปลอดโปร่ง ปลอดภัย และไว้วางใจ หากโค้ชชี่รู้สึกเครียด ถูกคุกคาม รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ไร้ทางเลือก อึดอัด ก็จะต่อต้าน สมองส่วนกลางจะบล็อก การทำงาน ของ PFC ไปด้วย
ถ้าโค้ชชี่ท้อแท้ หมดหวัง เศร้าเสียใจมากๆ จมอยู่ในอารมณ์ลบๆ ก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ อะมิกดาลาไฮแจ็ค คือ อารมณ์ท่วมสมอง ขาดสติได้ อะมิกดาลา เป็นส่วนหนึ่งในสมองส่วนกลาง เป็นศูนย์กลางของอารมณ์ ความรู้สึกพื้นฐาน เช่น ความกลัว ความก้าวร้าว และเก็บบันทึกอารมณ์ด้านลบ เมื่อถูกกระตุ้น ก็จะผลิต ฮอร์โมนความเครียด ชื่อ คอร์ติซอล(Cortisol) ปิดกั้นการทำงานของ PFC นั่นเอง
นี่คือสาเหตุที่ ในกระบวนการโค้ช โค้ชจะพยายามพูดด้านบวก สร้างการยอมรับ และความไว้วางใจ ทำให้โค้ชชี่รู้สึกปลอดภัย พร้อมเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม การโค้ชหรือการพูดคุยแบบราบรื่น ก็อาจไม่เกิดประโยชน์ใดๆก็ได้ เพราะ สมองมักจะขี้เกียจ และกลัวการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น โค้ชจะต้องท้าทายหรือกระตุ้นความคิดโค้ชชี่ด้วยคำถามทรงพลัง เพื่อสร้างการเชื่อมโยงของเส้นทางประสาท เพื่อให้โค้ชชี่ได้เรียนรู้ และเกิดสิ่งใหม่ เส้นทางที่เกิดขึ้นใหม่นั้น มักเกิดในสถานการณ์ปิ๊งแว๊บ ซึ่งในภาษาโค้ช มักเรียกว่า “AHA moment” ในจังหวะนั้น โค้ชชี่จะตื่นเต้น แววตาเป็นประกาย พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และลำดับต่อไปโค้ชก็จะถามถึงแนวทางการลงมือทำเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อไป
กลไกการเกิด AHA moment นั้น มีหลักๆ 4 ข้อ คือ
- เงียบ (Notice Quiet Signal)
- อยู่กับตัวเอง (Look inward)
- คิดเชิงบวก (Take a positive approach)
- ไม่ต้องใช้ความพยายามกับมัน (Useless Effort)
อย่างไรก็ตาม AHA moment อาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น ในการโค้ช ก็ได้ ผมเองเคยทำการโค้ช ให้กับโค้ชชี่ท่านหนึ่ง ในการโค้ชนั้น โค้ชชี่เห็นภาพรวมของสถานการณ์อย่างชัดเจน ตระหนักในตัวเองพอสมควร และไม่เกิด AHA moment ใดๆ เมื่อจบการโค้ช แต่จากการโค้ชในครั้งต่อไปจากนั้น พบว่า ช่วงระหว่างที่ไม่เจอกัน โค้ชชี่ เกิด AHA moment ด้วยตัวเอง นอก session การโค้ช และก็ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง สร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
ถึงจุดนี้ พวกเราคงเข้าใจความสำคัญของสมองกับการโค้ชพอสมควรนะครับ